4 เทคนิคการสอน “สอนอย่างไรให้น่าจดจำ” (Teaching Guide)

Published by piyakorn.lak on

เทคนิคการสอน “สอนอย่างไรให้น่าจดจำ”

              คุณครูทุกคนเคยเป็นนักเรียนมาก่อน  ก็จะต้องเคยมี “คุณครูที่รักในดวงใจ” อย่างน้อยคน 2 คนแน่ๆ เป็นคุณครูที่เราไม่มีวันลืม เป็นคุณครูที่เรารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของเราในวันนี้ หรือกระทั่งเป็นคนเปลี่ยนชีวิตของเรา

              คุณครูทุกคนในวันนี้ ก็ย่อมอยากเป็น “คุณครูในดวงใจ” ของนักเรียนด้วยเช่นกัน และเราเชื่อว่าคุณครูหลายคนก็ได้เป็นไปแล้ว โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

              วันนี้ เราจะมาเสนอเทคนิคการสอนที่จะทำให้นักเรียนจดจำ ทั้งคุณครูและเนื้อหาได้มากกว่าเดิมกันค่ะ

1. สอนแบบเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ วัยเรียน

 

หากจำได้สมัยเรายังอยู่ในวัยเรียน ไม่ว่าจะประถม,  ม.ต้น,  ม.ปลาย  พวกเราส่วนมากก็ไม่ค่อยสนใจเรียน ตั้งใจอ่านหนังสือสักเท่าไหร่ ยกเว้นตอนก่อนสอบ   พวกเราถึงขั้นคิดว่า เรียนไปก็ไม่ได้ใช้  เรียนฟิสิกส์ เรียนเลขยกกำลัง  เรียนท่องตารางธาตุ  ท่องหลักธรรมมะไปทำไม  เราไม่ได้คิดจะเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรสักหน่อย

อย่าลืมความรู้สึกตรงนั้นนะคะ  เพราะในวัยเดียวกัน  คนส่วนมากก็จะรู้สึกไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่นัก  เราหรือเพื่อนๆ เราเคยรู้สึกยังไงเมื่อตอนเป็นเด็ก  เด็กในวัยเดียวกันก็รู้สึกเหมือนกันนั่นแหละ

แต่ในเมื่อเราเป็นคุณครูแล้ว ก็เป็นหน้าที่รับผิดชอบของเราที่จะต้องให้ความรู้  ให้การศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมให้นักเรียนของเราเติบโตขึ้นในขั้นต่อๆ ไป

 

เทคนิคอย่างหนึ่งที่นักจิตวิทยาการสอนแนะนำสำหรับเด็กวัยเรียน คือ  เราไม่ควรเข้มงวดกับเด็กมากเกินไป อย่าโกรธโมโหใส่เด็ก เมื่อเด็กทำตรงข้ามกับที่เราสั่ง เพราะนี่เป็นเรื่องธรรมดามากสำหรับวัยเรียน  

 

 

          อย่าลงโทษเด็กด้วยการทำให้อับอายอย่างรุนแรง  เพราะ “ความอายฆ่าคนได้” เป็นประโยคที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ  แม้ว่าความรู้สึกอับอายอาจจะทำให้คนเรียนรู้และจำได้มากกว่าไม้เรียวก็ตาม  แต่ก็ต้องมีขอบเขต ไม่มากเกินไป

    

 

คาดหวังได้ แต่อย่ากดดัน  คิดในใจเสมอว่า เราทำดีที่สุดแล้ว แต่สุดท้ายใครจะรับได้เท่าไหร่ เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้  คิดในใจเสมอว่า การศึกษาในโรงเรียน การเรียนตามหลักสูตรไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิตของนักเรียนคนหนึ่ง  เพราะในความเป็นจริง คนที่ขี้เกียจในวันนี้ เรียนไม่เก่งในวันนี้ อาจประสบความสำเร็จในชีวิตของเขาในวันข้างหน้า  และความสำเร็จในชีวิตของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน 

ครูสามารถยกตัวอย่าง 1% ของคนที่กลายเป็นมหาเศรษฐี ทั้งที่เรียนไม่จบ  หรือยกตัวอย่างธุรกิจ Start-up เล็กๆ ที่ประสบความสำเร็จจับเงินล้านใน 1 ปี    % ของคนที่มีความสำเร็จนี้มีจำนวนน้อยมาก ส่วนคนที่ล้มเหลวและไม่ได้ถูกนำเสนอผ่านสื่อ มีมากกว่า 90%    

พูดให้นักเรียนเห็นภาพว่า  หากอยากเป็นส่วนน้อยที่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องมีบางอย่างที่มากกว่าคนส่วนใหญ่ มีทุน  มีโชค  มีความรู้  มีทักษะ  มีความมุ่งมั่น  มีความพร้อม

ในวันนี้  นักเรียนมีอะไรบ้าง และครูพร้อมที่จะให้อะไรได้บ้าง  อย่างน้อยครูช่วยให้มีความรู้  มีทักษะได้ 

 

คุณครูสอนแบบเป็นโค้ช ทำให้นักเรียนรู้สึกว่า คุณครูไม่ได้กดดัน ไม่ได้บังคับ ไม่ได้ลงโทษ นักเรียนมีอิสระที่จะตั้งใจมาก ตั้งใจน้อยก็ได้  แต่อย่างน้อยที่สุด ควรบรรลุเป้าหมายร่วมกัน  ซึ่งคุณครูอาจกำหนดกฎกติกาขึ้นมาสักข้อ ให้นักเรียนปฏิบัติตาม ต่อให้จะเกเรแค่ไหน จะดื้ออย่างไร ขอแค่ข้อนี้ให้ครู ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ไม่จำเป็นต้องรอเทอมใหม่ ชั้นเรียนใหม่เลย  


2. สอนความรู้อื่นนอกบทเรียน

 

             เมื่อเข้าใจและยอมรับเรื่องธรรมชาติของเด็กวัยเรียนได้แล้ว  ธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งของเด็ก โดยเฉพาะเด็กมัธยม ที่คุณครูอาจไม่ทันนึกถึง ก็คือ ความสนใจในเรื่องที่โตกว่าตัวเอง  ความชอบที่จะรู้สึกเหนือกว่า หรือรู้มากกว่า

 

การใช้เวลาสั้นๆ อัปเดตสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก เทรนด์ใหม่ด้านเทคโนโลยี หรืออะไรก็ตามที่อาจจะส่งผลต่อตัวนักเรียน ต่อครอบครัวของนักเรียนได้ จะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนสนใจในสิ่งที่คุณครูพูดมากขึ้น  เพราะนอกจากจะเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในเนื้อหาบทเรียน (ที่นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ชอบ) แล้ว  อาจเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยรู้ เป็นมุมมองที่เขาไม่เคยนึกถึงมาก่อนว่ามันเกี่ยวข้องกับตัวเองยังไง

 

ยิ่งถ้าหากนักเรียนได้นำข้อมูลหรือสิ่งที่ได้ไปแชร์ต่อ แล้วได้รับผลด้านบวกกลับมา ก็จะยิ่งทำให้นักเรียนรู้สึกดีกับคุณครู ดีกับวิชาเรียนนี้ขึ้นไปได้อีก

เพราะความรู้อื่นๆ นอกบทเรียน มักเป็นจุดตัดสินความแตกต่างของความสำเร็จของแต่ละคนเสมอ

 

ในยุคดิจิทัลนี้ MAC ก็มี facebook page ดีๆ แนะนำให้คุณครูติดตาม เพื่ออัปเดตเทรนด์ต่างๆ ในโลก หรือในประเทศ ที่น่าเชื่อถือ ไว้แชร์กับนักเรียนได้ค่ะ

ลองติดตาม Future Trends หรือ Brand Inside หรือ The People ดู  อย่าคิดว่าไม่เกี่ยวกับเนื้อหาแล้วจะไม่มีประโยชน์นะคะ ความรู้รอบตัวเหล่านี้ จะช่วยทำให้ชั่วโมงเรียนไม่น่าเบื่อและอาจช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์หรือแรงบันดาลใจได้อย่างดีเลย

 

3. แชร์ประสบการณ์จริงของครู

                แชร์ประสบการณ์จริงของครูเอง หรือประสบการณ์จริงของใครคนอื่นที่เคยรู้มา สิ่งนี้จริงๆ ก็คือ เทคนิคการสอนแบบ Case Study นั่นเอง

พวกเราทุกคนมักจะชอบได้ยินได้ฟังเรื่องของคนอื่น คนที่เผชิญหรือผ่านอะไรบางอย่างมาจริงๆ  ยิ่งเป็นคนใกล้ตัวเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกร่วม หรือ “อิน” มากขึ้นเท่านั้น  (นี่คือเหตุผลที่เรามักเลือกซื้อสินค้าตามอินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ ที่มารีวิวสินค้าให้เราดู)

 

ทำไม ถึงมีเดี่ยวไมโครโฟน มีไลฟ์โค้ชเกิดขึ้น และได้รับความนิยม

พวกเรายอมเสียเงินเข้าไปฟังประสบการณ์ของผู้เล่า หรือของโค้ช ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ตรงหรือประสบการณ์ของคนอื่นที่โค้ชเล่าให้เราฟัง ก็ทำให้เราคล้อยตามได้ และรู้สึกมีน้ำหนักมากกว่าการที่ไม่มีตัวบุคคลอ้างอิงเลย

 

บริษัทฯ ลงโพสต์ บอกคุณสมบัติของครีมล้างหน้าว่า อ่อนโยน ไม่ก่อให้เกิดสิว

ใครสักคน โพสต์บอกว่า ใช้ครีมล้างหน้าของบริษัทฯ นี้แล้ว ไม่มีสิวขึ้น รู้สึกว่าอ่อนโยน

 

คุณครูคิดว่าจะเชื่อโพสต์ไหนมากกว่ากัน??

 

การแชร์ประสบการณ์จริง หรือการยกตัวอย่างประสบการณ์ของคนอื่นที่ได้รู้มา ก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่กระตุ้นความสนใจในชั่วโมงเรียนได้ดีจริงๆ ค่ะ

 

4. สร้าง Statement ของครูเองให้เป็นที่จดจำ

             บ่อยครั้งที่เราเห็น คำคม, Quote ต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย แล้วรู้สึกชอบ โดนใจ ถึงขั้นจดจำไว้หรือแชร์ต่อ  เพราะคำคมเหล่านั้น สั้น กระชับ จดจำง่าย

คุณครูสามารถใช้เทคนิคนี้ สร้างการจดจำให้กับนักเรียนได้  นอกจากนักเรียนจะจำประโยคสั้นๆ นั้นได้ หลายครั้งที่ประโยคสั้นๆ นั้นเหมือนจิ๊กซอว์ที่ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนจดจำส่วนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงหรือเกิดใกล้กันได้ดีขึ้นอีกด้วย

 

ยกตัวอย่าง การสอนในคาบเรียนหนึ่งที่มีเนื้อหาเยอะๆ เมื่อสอนจบเนื้อหา คุณครูอาจสรุปในตอนท้ายว่า สิ่งที่คุณครูคาดหวังจากการเรียนคาบนี้  มีเพียงอย่างเดียว คือให้นักเรียนรู้ว่า “ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ไม่มีกองทัพหรือกำลังทหารเป็นของตัวเอง”    

 

Statement หรือ ประโยคที่อยากให้นักเรียนจำ, ใส่ใจ อาจเป็นประโยคที่แฝงความตลก หรือประโยคสำคัญๆ ในเนื้อหาวันนั้น

 

คุณครูอาจเริ่มประโยคตั้งแต่เริ่มคาบเรียนก็ได้เช่นกัน เช่น “วันนี้ ครูขออย่างเดียวคือ จบคาบเรียนแล้ว นักเรียนทุกคนจะบอกได้ว่า Infinity คืออะไร”

 

เทคนิคนี้ มีประโยชน์มาก สำหรับนักเรียนที่ไม่ค่อยตั้งใจเรียน ตั้งใจฟังเวลาที่คุณครูสอน เพราะมีความอดทนไม่พอ  การที่ครูให้โจทย์ง่ายๆ แบบนี้ จะทำให้นักเรียนรู้สึกว่า อย่างน้อยการเรียนชั่วโมงนี้  แค่ตั้งใจกับเรื่องนี้ หัวข้อนี้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

เป็นวิธีการสอนแบบใช้จิตวิทยา ให้ “ความสำเร็จเล็กๆ”  กับนักเรียน เพื่อกระตุ้นไม่ให้นักเรียนรู้สึกว่าเจอกับทางตัน ทำอย่างไรก็ไม่มีวันเก่ง ไม่มีวันสำเร็จเหมือนเพื่อนๆ  

 

          MAC หวังว่า 4 เทคนิคการสอนนี้ จะเป็นประโยชน์ให้คุณครูนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมและสถานการณ์ได้ และช่วยสร้างบรรยากาศดีๆ ในห้องเรียนได้มากขึ้น
กลายเป็นห้องเรียนที่สนุก และน่าจดจำสำหรับนักเรียนทุกคนนะคะ

 

>> เข้าร่วมอบรมครูฟรีกับ MAC ได้ที่นี่เลย  อบรมครู MAC Training
หรือ >> อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม เสริมการเรียนรู้ ให้เด็กประถม “คิดเป็น”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
All search results